วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2552

happinessframe

กรอบแนวคิดการประเมินสภาวะสุขในชุมชน

การประเมินสภาวะสุขจะแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับบุคคล (Personal level) ระดับชุมชน (Community level) และระดับสภาพแวดล้อม (Environment level) ทั้งสามระดับดังกล่าว มีความเป็นอิสระต่อกันในด้านการเก็บข้อมูล และวิธีวิเคราะห์ข้อมูล แต่สามารถนำผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ในลักษณะที่มีความสัมพันธ์กันได้

1. ระดับบุคคล (Personal level) ระดับความสุขที่วัดค่าได้ยากมากที่สุด เนื่องจากขึ้นกับปัจจัยที่หลากหลายเกินไป ความสุขของคนแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน และสืบเนื่องจากปัจจัยที่แตกต่างกันไป Eric Weiner ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Geography of Bliss ว่าความหมายของความสุข ในแต่ละภาษาอาจจะมีความแตกต่าง นั่นคือมีปัจจัยที่หลากหลายเกินไป และจะมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว เมื่อคำนึงถึงส่วนผสมของปัจจัยที่หลากหลายดังกล่าวของแต่ละคน การสืบหาปัจจัยสภาวะสุขระดับบุคคลจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก และหาข้อสรุปได้ไม่ง่ายนัก จำเป็นที่จะต้องใช้ตัวแปรที่ “เป็นจุดร่วมความสุข” ของผู้คน เช่น การมีสุขภาพที่ดี (ไม่มีใครมีความสุขกับสุขภาพกายและใจที่ย่ำแย่) และจำเป็นต้องใช้ ตัวแปรในลักษณะ “เป็นที่ยอมรับ” ของคนทั่วไปในระดับสังคมประเทศ หรือในระดับโลก นอกจากนั้น ยังอาจจำเป็นที่จะต้องใช้ตัวแปรในลักษณะ “เป็นแนวปฏิบัติที่ดี” ของสังคมหรือชุมชนหนึ่งๆ

ในระดับบุคคลได้กำหนดตัวแปรหลักไว้ 3 ตัวแปร ได้แก่

- บุคลิกภาพ (Personality) ยึดตามกรอบการประเมินตามหลักจิตวิทยา BIG FIVE

- สุขภาพ (Health) โรคภัย และความเสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ

- ความพึงพอใจในชีวิต (Life Satisfaction) ความพอใจในการดำเนินชีวิต สมดุลในการสร้างรายได้ และการใช้จ่าย ความพอใจในอาชีพ ฯลฯ

2. ระดับชุมชน (Community level) ในสังคมหนึ่งๆ จะมีการสร้างกฏเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้สังคมนั้นๆ สามารถอยู่ได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย สังคมขนาดเล็กอาจจะมีกฎเกณฑ์ที่บัญญัติขึ้นจากสังคมที่ใหญ่กว่า และ/หรืออาจจะมีระเบียบกฎเกณ์ที่เป็นตัวของตัวเองที่ร่วมกันกำหนดขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยการใช้ตัวแทนคนกลุ่มหนึ่งในการเป็นตัวแทน และดำเนินการต่างๆ ในชุมชน นโยบายต่างๆ ที่กำหนดขึ้นไม่ว่าจะเป็นจากวิสัยทัศน์ส่วนตัว หรือมาจากชุมชน เป็นตัวขับดันชุมชนและคนในชุมชน ดังนั้นจะอย่างไรนโยบายและการปฏิบัติของผู้นำและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชนก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาวะของคนในชุมชนไม่มากก็น้อย ตัวแปรหลักทางด้านชุมชนในกรอบการประเมินนี้ ประกอบด้วย

- ความภูมิใจในวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ในชุมชน

- นโยบายที่ขับดันด้านสุขภาพกายและใจในชุมชน

- วิสัยทัศน์และธรรมาภิบาล

- นโยบายที่ีดีที่ขับเคลื่อนทางด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน

3. ระดับสภาพแวดล้อม (Environment level) ถ้าสมมติให้ทุกชุมชนมีลักษณะผู้คนเหมือนกัน และมีนโยบายการปฏิบัติงานเหมือนกันอย่างสิ้นเชิงแล้ว สิ่งที่ทำให้แต่ละชุมชนมีความแตกต่างคือสภาพแวดล้อมในแต่ละชุมชน สภาพแวดล้อมหมายถึงปัจจัยทางพื้นที่ที่มีผลต่อการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับชุมชน ในทางกลับกัน สภาพแวดล้อมที่แย่ลงมีผลกระทบต่อความสุขของคนในชุมชน กรอบการประเมินนี้ ได้นำเสนอตัวแปรหลักทางพื้นที่ ดังนี้

- ทรัพยากรในชุมชน

- โครงสร้างพื้นฐานในชุมชน

- ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และภาวะเสี่ยงภัยทางธรรมชาติ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น